วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การกำกับดูแลการล๊อบบี้

ปัจจุบัน การล๊อบบี้กลายเป็นอุตสาหกรรมระดับโลกที่มีมูลค้าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาและใช้บุคลากรจำนวนมากมาย ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2010 การล๊อบบี้สำหรับรัฐบาลกลางในสหรัฐอเมริกามีการใช้จ่ายเงินสูงกว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2013 บุคคลที่มีอาชีพล๊อบบี้ซึ่งลงทะเบียนไว้กับรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาจำนวน 11,400 คนการลดลงเล็กน้อยจากจำนวนที่ลงทะเบียนไว้เดิมในปี ค.ศ. 2007 ที่มีจำนวน 14,800 คน ในแคนาดา จำนวนของผู้มีอาชีพล๊อบบี้ในระดับรัฐบาลกลางมีมากกว่า 5,000 คน ในยุโรป มีจำนวนนักล๊อบบี้เกือบ 6,000 คนที่สมัครใจลงทะเบียนไว้กับสหภาพยุโรป 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) ได้มีการทำวิจัยการล๊อบบี้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา พบว่าอุตสาหกรรมการเงิน ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์มีการใช้จ่ายเงินสูงถึง 480,000 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทในปี ค.ศ. 2006 จำนวน 300,000 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทในอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง และจำนวน 200,000 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อบริษัทสำหรับอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง ดังนั้น ความกังวลเรื่องการล๊อบบี้ โดยมีการเรียกร้องเรื่องความโปร่งใสในการตัดสินของภาครัฐ เนื่องจากการล๊อบบี้มักจะให้ข้อมูลและเบื้องหลังที่มีประโยชน์แก่ผู้ตัดสินใจของภาครัฐ และอนุญาตให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงการพัฒนาและนำนโยบายสาธารณะไปสู่การปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม การล๊อบบี้ก็อาจนำไปสู่การสร้างอิทธิพลที่มิชอบและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมที่ส่งผลเสียต่อประโยชน์สาธารณะและนโยบายสาธารณะได้ ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา กรณีที่โด่งดังคือ นายแจ๊ค อัมรามอฟซึ่งเป็นนักล๊อบบี้เรื่องการเปิดบ่อนคาสิโนโดยใช้สิทธิของชนพื้นเมือง โดยมีค่าใช้จ่ายในการล๊อบบี้สูงถึง 85 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และได้เบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่บริษัทที่ว่าจ้างและยักยอกเงินไว้บางส่วน รวมทั้งในอีกคดีหนึ่งได้ข่มขู่บริษัทที่เคยว่าจ้างว่าจะเปิดเผยข้อมูลการล๊อบบี้ที่ผิดกฎหมาย และยังมีกรณีที่มอบของขวัญและบริจาคเงินแก่นักการเมืองเพื่อให้ลงคะแนนสนับสนุนร่างกฎหมาย ในที่สุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแลกิจกรรมการล๊อบบี้ที่เข้มงวดมากขึ้น เช่น Legislative Transparency and Accountability Act โดยสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่กำกับดูแล

ด้วยเหตุผลและความกังวลใจดังกล่าวข้างต้น ประเทศต่าง ๆ เริ่มออกกฎและระเบียบเพื่อกำกับดูแลกิจกรรมการล๊อบบี้ และในเวทีระหว่างประเทศเองจึงมีความพยายามริเริ่มให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติที่สร้างความโปร่งใสและความรับผิดของการล๊อบบี้ ซึ่งองค์กรความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์กฎการกำกับดูแลการล๊อบบี้ของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการกำกับดูแลตนเองด้วย แล้วแจกแจงองคืประกอบสำคัญของการกำกับดูแลได้ดังนี้ 
- นิยามของนักล๊อบบี้ และกิจกรรมของการล๊อบบี้ที่ถูกกำกับดูแลต้องมีความชัดเจน
- ข้อกำหนดการเปิดเผยต้องให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ล๊อบบี้และกิจกรรมล๊อบบี้ เช่น วัตถุประสงค์ ผู้ได้รับประโยชน์ แหล่งเงินสนับสนุน และเป้าหมายของการล๊อบบี้ 
- กฎและแนวปฏิบัติที่กำหนดมาตรฐานของพฤติกรรมที่คาดหวัง เช่น การหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลที่เป็นความลับ การขัดแย้งของผลประโยชน์ และการป้องกันการฉ้อฉล เป็นต้น
- กระบวนการติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และกลไก รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย 
- ความเป็นผู้นำองค์กรส่งเสริมวัฒนธรรมของความซื่อสัตย์และความโปร่งใสของการปฏิบัติประจำวันโดยการเปิดเผยข้อมูลสม่ำเสมอและการตรวจสอบเพื่อประกันการปฏิบัติตามกฎ